ประวัติโรงเรียนรังสีเทคนิค โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
สืบเนื่องมาจากการประชุมที่กระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2525 เรื่อง “การผลิตเจ้า หน้าที่รังสีการแพทย์” โดยในครั้งนั้น โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ได้จัดส่งรองศาสตราจารย์นายแพทย์ บุญเที่ยง ศีติสาร เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว และกระทรวงสาธารณสุขได้ขอความช่วยเหลือในการผลิตเจ้าหน้าที่รังสีเทคนิค ตามนโยบาย ในแผนพัฒนาสาธารณสุข ฉบับที่ 5 ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขมีแผนงานที่จะสร้างโรงพยาบาลให้ครบทุกอำเภอทั่วประเทศ จำนวน 600 แห่งและมีนโยบายสำหรับการแก้ปัญหาการขาดแคลนเจ้าหน้าที่รังสีเทคนิคที่มีจำนวนทั้งสิ้น 800 คนซึ่งใน ระยะที่ผ่านมา การผลิตบุคลากรดังกล่าวยังอยู่ในอัตราต่ำและไม่อาจบรรลุเป้าหมายตามความต้องการของประเทศ
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้ตระหนักถึงความขาดแคลนดังกล่าว และโดยที่โรงพยาบาล จุฬาลงกรณ์เป็นโรงพยาบาลหลักของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งนับได้ว่ามีความพร้อมและ มีศักยภาพความสามารถที่จะผลิตบุคลากรดังกล่าวได้ จึงเห็นสมควรที่จะเปิดโรงเรียนรังสีเทคนิคดังกล่าวขึ้น เพื่อสนองความต้องการของประเทศและเพื่อเสริมสร้างความก้าวหน้าของงานบริการของฝ่ายรังสีวิทยา โรงพยาบาล จุฬาลงกรณ์ ดังนั้น หัวหน้าฝ่ายรังสีวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ในขณะนั้น ซึ่งก็คือ รองศาสตราจารย์นายแพทย์ศีลวัต อรรถจินดา จึงได้เสนอเรื่องการจัดตั้งโรงเรียนรังสีเทคนิคขึ้น พร้อมกับเสนอระเบียบและหลักสูตรการศึกษาผ่านทาง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ไปยังสภากาชาดไทย และที่ประชุมกรรมการเจ้าหน้าที่ได้มีมติรับหลักการเมื่อวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2525
วันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2525 สภากาชาดไทยได้ยื่นคำร้องขอจัดตั้งโรงเรียนรังสีเทคนิคต่อกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีนายแพทย์ยาใจ ณ สงขลา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เป็นผู้ลงนามแทนสภากาชาดไทย และมี นายแพทย์บุญเที่ยง ศีติสาร หัวหน้าฝ่ายรังสีวิทยาเป็นผู้จัดการ และแพทย์หญิงกัลยา เจียรประดิษฐ์ หัวหน้าหน่วยรังสี วินิจฉัยเป็นอาจารย์ใหญ่ ซึ่งทางกระทรวงศึกษาธิการ ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2526 โรงเรียนรังสีเทคนิค โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้จัดตั้งขึ้นตรงต่อฝ่ายรังสีวิทยา และได้เริ่ม เปิดสอนนักศึกษารุ่นแรกเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2525 โดยกำหนดคุณวุฒิของผู้สมัครเข้ารับการศึกษาพื้นความรู้ สอบไล่ได้ประกาศนียบัตรประโยคมัธยมศึกษาตอนปลายสายสามัญ (ม.6 หรือเทียบเท่า) ศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์ การแพทย์ (รังสีเทคนิค) หลักสูตร 2 ปี สำเร็จการศึกษาได้รับประกาศนียบัตรวิทยาศาสตร์การแพทย์ (รังสีเทคนิค) หลักสูตร 2 ปี โดยในระยะแรกคณาจารย์ เป็นบุคลากรของภาควิชา/ฝ่ายรังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยทั้งหมด
สำหรับนักศึกษาที่เข้ามาศึกษาแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ประเภทแรก ได้แก่ นักศึกษาซึ่งได้รับทุนอุดหนุน จากกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งนักศึกษาประเภทนี้จะได้รับการสอบคัดเลือกจากการสอบร่วมโดยความร่วมมือของกลุ่ม โรงเรียนผู้ผลิตเจ้าหน้าที่รังสีเทคนิคด้วยกัน ได้แก่ โรงเรียนรังสีเทคนิค โรงพยาบาลศิริราช คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โรงเรียนรังสีเทคนิค โรงพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และโรงเรียนรังสีเทคนิค โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โดยมีกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ประสานงาน เมื่อสอบคัดเลือกนักศึกษาได้แล้วก็จะแบ่งนักศึกษาไปยังแต่ละโรงเรียนตามโควตาที่ได้ตกลงกันไว้ ซึ่งนักศึกษาเหล่านี้ จะได้รับทุนอุดหนุนการศึกษาจากกระทรวงสาธารณสุขตลอดระยะเวลา 2 ปี เป็นรายเดือน เดือนละ 600 บาท เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วต้องกลับไปปฏิบัติงาน ณ โรงพยาบาลที่ได้รับทุนมา ประเภทที่สอง ได้แก่ นักศึกษาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์จัดสอบคัดเลือกเอง โดยจะทำการสอบคัดเลือก วันเดียวกันกับนักศึกษาประเภทแรก นักศึกษาประเภทที่สองนี้มาจากบุคคลภายนอกและจะเป็นนักศึกษาที่ใช้ทุนส่วนตัว เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วจะไม่มีข้อผูกมัดใดๆ และสามารถหางานทำเองได้
โรงเรียนรังสีเทคนิค โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้พัฒนา แก้ไข และปรับปรุง หลักสูตรอย่าง ต่อเนื่อง ซึ่งทบวงมหาวิทยาลัยได้ให้ความเห็นชอบหลักสูตรประกาศนียบัตรวิทยาศาสตร์การแพทย์ สาขาวิชารังสีเทคนิค ของสถาบันเป็นหลักสูตรเทียบเท่าระดับอนุปริญญา ตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2533 เป็นต้นมา ในปี พ.ศ. 2542 โรงเรียนได้มีการแก้ไขปรับปรุงหลักสูตร โดยการปรับปรุงเพิ่มและลดหน่วยกิตในบางรายวิชา และเพิ่มวิชาใหม่ ได้แก่ วิชาแคลคูลัส เครื่องมือทางรังสีวิทยา การประกันคุณภาพทางรังสีเทคนิค และเทคนิคการให้ ปริมาณรังสี นอกจากนี้ยังได้เพิ่มการฝึกปฏิบัติงานของนักศึกษาให้สอดคล้องกับหลักสูตรที่ปรับปรุงใหม่ด้วย สำหรับ หลักสูตรนี้ได้รับความเห็นชอบจากทบวงมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2543 และเริ่มใช้จัดการเรียนการสอน ในปีการศึกษา 2543 เป็นต้นมา ในปี พ.ศ. 2547 โรงเรียนได้มีการแก้ไขปรับปรุงหลักสูตร โดยมีการปรับลดหน่วยกิตวิชากายวิภาคศาสตร์และ ปรับปรุงรายละเอียดในบางรายวิชาให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางวิทยาการและเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นและ เริ่มใช้จัดการเรียนการสอนในปีการศึกษา 2548 เป็นต้นมา ในปี พ.ศ. 2551 โรงเรียนได้ปรับปรุงแก้ไขเนื้อหาบางรายวิชาและจัดทำแผนการสอนใหม่ เพื่อเป็นแนวทาง สำหรับการเรียนการสอนนักศึกษารังสีเทคนิคต่อไป
บทบาทหน้าที่ของโรงเรียน
1. ผลิตบุคลากรด้านรังสีการแพทย์ ระดับประกาศนียบัตร (เทียบเท่าอนุปริญญาสาขาวิชารังสีเทคนิค) ที่มีความรู้ ความสามารถ มีคุณธรรม และจริยธรรมในการให้บริการทางการแพทย์
2. พัฒนาวิชาการเผยแพร่ความรู้และเทคโนโลยีแก่บุคลากรด้านรังสีการแพทย์และบุคคลทั่วไป
3. ส่งเสริมและทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมเพื่อดำรงไว้ซึ่งเอกลักษณ์และวัฒนธรรม
4. พัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง
ปรัชญา วิสัยทัศน์ พันธกิจ และเป้าหมายของโรงเรียน
ปรัชญา : โรงเรียนรังสีเทคนิค โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เป็นสถาบันที่มีศักยภาพในการจัดการศึกษา ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ สาขาวิชารังสีเทคนิค ผลิตบุคลากรระดับประกาศนียบัตร (เทียบเท่าอนุปริญญาสาขาวิชา รังสีเทคนิค) ที่มีความรู้ความสามารถ คุณธรรม และจริยธรรม เพื่อการประกอบวิชาชีพรังสีเทคนิคอย่างมีคุณภาพ
วิสัยทัศน์ : มุ่งผลิตบุคลากรทางรังสีเทคนิคที่มีคุณภาพ คุณธรรม และจริยธรรมในวิชาชีพ มีความสามารถในการใช้ เทคโนโลยีทางรังสีการแพทย์ การให้บริการและอนุรักษ์วัฒนธรรม
พันธกิจ :
1. ผลิตบุคลากรทางรังสีเทคนิคระดับประกาศนียบัตร (เทียบเท่าอนุปริญญาสาขาวิชารังสีเทคนิค) ที่มี ความรู้ความสามารถ มีคุณธรรมและจริยธรรมในการให้บริการทางการแพทย์
2. พัฒนาวิชาการ เผยแพร่ความรู้และเทคโนโลยีแก่บุคลากรด้านรังสีและบุคคลทั่ว ไป
3. ส่งเสริมและทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมเพื่อดำรงไว้ซึ่งเอกลักษณ์และวัฒนธรรม
4. พัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง
เป้าหมาย
1. ผลิตบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์สาขาวิชารังสีเทคนิค ที่มีคุณภาพ มีความรู้ และความสามารถที่ จะปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพตามมาตรฐานวิชาชีพ
2. แก้ปัญหาความขาดแคลนเจ้าหน้าที่รังสีการแพทย์ของสภากาชาดไทยและกระทรวงสาธารณสุข
3. ส่งเสริมความรู้วิชาการและเทคโนโลยีทางรังสี เช่น ผลิตผลงานวิชาการ การจัดอบรมระยะสั้นทางรังสีเทคนิค และการจัดประชุมฟื้นฟูวิชาการรังสีเทคนิค
4. ให้บริการทางวิชาการด้านรังสีเทคนิคแก่เจ้าหน้าที่และบุคคลทั่วไป
อาจารย์ใหญ่โรงเรียนรังสีเทคนิค โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
1. รศ.พญ.กัลยา เจียรประดิษฐ์ 12 กรกฎาคม 2526 – 23 กันยายน 2530
2. ศ.พญ.คุณหญิงนิตยา สุวรรณเวลา 24 กันยายน 2530 – 19 มีนาคม 2534
3. รศ.พญ.คุณหญิงเกษร วัชรพงศ์ 20 มีนาคม 2534 – 28 มีนาคม 2538
4. รศ.พญ.สุกัลยา เลิศล้ำ 29 มีนาคม 2538 – 18 พฤษภาคม 2555
ผู้จัดการโรงเรียนรังสีเทคนิค โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
1. รศ.นพ.บุญเที่ยง ศีติสาร 12 กรกฎาคม 2526 – 25 มกราคม 2531
2. รศ.พญ.มาคุ้มครอง โปษยะจินดา 26 มกราคม 2531 – 6 พฤศจิกายน 2534
3. ศ.พญ.คุณหญิงนิตยา สุวรรณเวลา 14 พฤศจิกายน 2534 – 29 พฤศจิกายน 2541
4. รศ.พญ.วัชรี บัวชุม 30 พฤศจิกายน 2541 – 30 กันยายน 2544
5. รศ.พญ.สมใจ หวังศุภชาติ 1 ตุลาคม 2544 – 30 กันยายน 2552
6. รศ.นพ.เกียรติ อาจหาญศิริ 1 ตุลาคม 2552 – 18 พฤษภาคม 2555
ผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่โรงเรียนรังสีเทคนิค โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
นายสมคิด ฤทธิรณ 4 ตุลาคม 2527 – 18 พฤษภาคม 2555
สถานที่ตั้งโรงเรียนในขณะนั้น
อาคารล้วน – เพิ่มพูล ว่องวานิช ชั้น 4 ฝ่ายรังสีวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ถนนพระราม 4 เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
หลักสูตรที่เปิดสอน
หลักสูตรวิทยาศาสตร์การแพทย์ (เทียบเท่าอนุปริญญา) สาขารังสีเทคนิค
ภาคทฤษฎี จำนวน 69 หน่วยกิต ประกอบด้วย
1. บรรยาย 1 ชั่วโมง/สัปดาห์ / 15 สัปดาห์
2. ปฏิบัติ 2 ชั่วโมง/สัปดาห์ / 15 สัปดาห์
ภาคปฏิบัติจำนวน 24 หน่วยกิต
1. ฝึกงาน 3 ชั่วโมง / สัปดาห์ 16 สัปดาห์
วิชาที่สอนตลอดหลักสูตร
ปีที่ 1
ภาคการศึกษาต้น
กายวิภาคศาสตร์ จำนวน 3 หน่วยกิต
ฟิสิกส์ทั่วไป จำนวน 2 หน่วยกิต
เทคนิคการถ่ายภาพรังสี 1 จำนวน 3 หน่วยกิต
การสร้างภาพรังสี จำนวน 3 หน่วยกิต
การดูแลผู้ป่วยทางรังสีวิทยา 1 จำนวน 2 หน่วยกิต
ภาษาอังกฤษพื้นฐาน 1 จำนวน 3 หน่วยกิต
สังคมวิทยาและจริยธรรม จำนวน 3 หน่วยกิต
แคลคูลัส จำนวน 2 หน่วยกิต
รวม 21 หน่วยกิต
ภาคการศึกษาปลาย
เทคนิคการถ่ายภาพรังสี 2 จำนวน 4 หน่วยกิต
ภาษาอังกฤษพื้นฐาน 2 จำนวน 2 หน่วยกิต
สรีรวิทยา จำนวน 2 หน่วยกิต
ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 3 หน่วยกิต
เครื่องมือทางรังสีวิทยา จำนวน 2 หน่วยกิต
ฟิสิกส์รังสี จำนวน 2 หน่วยกิต
การฝึกเทคนิคทางรังสีวิทยาวินิจฉัย 1 จำนวน 5 หน่วยกิต
รวม 20 หน่วยกิต
ภาคฤดูร้อน
การดูแลผู้ป่วยทางรังสีวิทยา 2 จำนวน 2 หน่วยกิต
การฝึกเทคนิคทางรังสีวิทยาวินิจฉัย 2 จำนวน 5 หน่วยกิต
รวม 7 หน่วยกิต
ปีที่ 2
ภาคการศึกษาต้น
กายวิภาคศาสตร์และพยาธิวิทยาทางรังสี 1 จำนวน 1 หน่วยกิต
เทคนิคพิเศษในการถ่ายภาพรังสี 1 จำนวน 4 หน่วยกิต
เทคนิคการให้ปริมาณรังสี จำนวน 3 หน่วยกิต
รังสีคณิต จำนวน 2 หน่วยกิต
การประกันคุณภาพทางรังสีวิทยา จำนวน 2 หน่วยกิต
ประสบการณ์ทางรังสีวิทยา 1 จำนวน 7 หน่วยกิต
รวม 19 หน่วยกิต
ภาคการศึกษาปลาย
กายวิภาคศาสตร์และพยาธิวิทยาทางรังสี 2 จำนวน 1 หน่วยกิต
เทคนิคพิเศษในการถ่ายภาพรังสี 2 จำนวน 3 หน่วยกิต
พยาธิวิทยา จำนวน 1 หน่วยกิต
การป้องกันรังสี จำนวน 2 หน่วยกิต
ชีววิทยาทางรังสี จำนวน 2 หน่วยกิต
สถิติ จำนวน 2 หน่วยกิต
ประสบการณ์ทางรังสีวิทยา 2 จำนวน 7 หน่วยกิต
วิชาเลือกเสรี จำนวน 3 หน่วยกิต
รวม 21 หน่วยกิต
ภาคฤดูร้อน
คอมพิวเตอร์เบื้องต้น จำนวน 2 หน่วยกิต
กฎหมายวิชาชีพ จำนวน 2 หน่วยกิต
การอภิปรายร่วมทางรังสี จำนวน 1 หน่วยกิต
รวม 5 หน่วยกิต
ตลอดหลักสูตรมีจำนวนหน่วยกิตรวมทั้งสิ้น 93 หน่วยกิต
ปัจจุบันโรงเรียนรังสีเทคนิคได้ปิดทำการเรียนการสอนตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 และได้มีการพัฒนา ปรับปรุงหลักสูตรรังสีเทคนิคจากหลักสูตรเทียบเท่าอนุปริญญาเป็นหลักสูตรปริญญาตรี โดยความร่วมมือระหว่าง ภาควิชา/ฝ่ายรังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยจะเปิดรับนิสิตรุ่นแรกในปีการศึกษา 2558
แหล่งที่มาข้อมูล "http://radiology.md.chula.ac.th/"